เมื่อไม่นานมานี้ ในวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา รัฐสภาเมียนมาอนุมัติเงินกู้ผ่อนปรน 4,500 ล้านบาท(1) หลังจากรัฐบาลไทยได้เสนอให้รัฐบาลเมียนมากู้เงิน โดยให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ในสังกัดกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ปล่อยกู้ เพื่อปรับปรุงถนนสองช่องทางจากจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยรัฐบาลเมียนมาออกมาประกาศว่าจะมีการเริ่มปรับปรุงถนนสองช่องทางในช่วงกลางปีนี้ และ ณ ขณะนี้ทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ในนามของบริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตทจำกัด ก็ได้ดำเนินการจัดทำร่างรายงานฉบับแก้ไขสำหรับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (Revised Draft Final Report for Environmental and Social Impact Assessment: ESIA) ในส่วนของถนนสองช่องทางไปแล้ว อันแสดงถึงความชัดเจนว่าบริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีความประสงค์ที่จะเดินหน้าในการก่อสร้างถนนสองช่องทางอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้ว่าเงินกู้ 4,500 ล้านบาทนี้ ทางรัฐบาลเมียนมาจะนำเงินในส่วนนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อว่าจ้างให้แก่บริษัทดังกล่าวปรับปรุงถนนสองช่องทาง ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาข้อตกลง 3 ฝ่าย และการได้สิทธิเป็นผู้พัฒนาโครงการทวายระยะแรกที่รวมถึงโครงการถนนสองเลนด้วย
โดยการอนุมัติกู้เงินนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่และมีการตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมมาตลอดว่าการอนุมัติเงินกู้ครั้งนี้ได้ยึดถือการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาจากการศึกษาวิจัยของสมาคมพัฒนาทวาย รวมทั้งการต่อต้านจากภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ที่มีการสร้างถนนในช่วงที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีสถานะเป็นผู้พัฒนาโครงการนั้น ได้ระบุว่าบริษัทมีความบกพร่องของธรรมาภิบาลในการดำเนินการอยู่มากทั้งในแง่ของการสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างถนน การบุกรุกพื้นที่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ด้วย การให้กู้เงิน 4,500 ล้านบาทนี้ จึงเกิดข้อสังเกตว่ามติคณะรัฐมนตรี เมื่อ พฤษภาคม 2559(2) กรณีท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ให้มีกลไกกำกับดูแลหรือสนับสนุนภาคเอกชนในการเคารพหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน การผลักดันมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGP) นั้น จะเกิดขึ้นจริงและมีการบังคับใช้อย่างจริงจังได้หรือไม่ และเหตุใดจึงไม่ปฏิบัติตามมติ ปี 2559 ดังกล่าว หรือท่าทีที่พยายามยามผลักดันโครงการในครั้งนี้จะซ้ำรอยการเห็นแก่ประโยชน์ในด้านธุรกิจและซ้ำเติมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้คงอยู่เช่นเดิม
เพื่อติดตามความคืบหน้าและข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน The Mekong Butterfly จึงลงพื้นที่ไปพบและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ตลอดแนวก่อสร้างถนนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจาก 5 หมู่บ้านในเมืองทวาย คือหมู่บ้านกะเลจี, หมู่บ้านกะทอว์นี, หมู่บ้านตะบิวชอง, หมู่บ้านปินธาดอว์ และหมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 14 หมู่บ้านที่อยู่ในเส้นทางลำเลียงทั้งท่อส่งก๊าซและน้ำมัน ทางรถไฟ สายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงแลเป็นถนนสำหรับการคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังประเทศไทย ดังนี้
- หมู่บ้านขาทาราคี
- หมู่บ้านวาห์ดอว์
- หมู่บ้านซินปิวตาย
- หมู่บ้านอีไวน์
- หมู่บ้านหงายาตนี
- หมู่บ้านตีโพเล
- หมู่บ้านมิตตา
- หมู่บ้านกะเลจี
- หมู่บ้านกะทอว์นี
- หมู่บ้านปินธาดอว์
- หมู่บ้านตะบิวชอง
- หมู่บ้านกาโลนท่า
- หมู่บ้านเยโปต์
- หมู่บ้านทิคี
โดยหมู่บ้านต่างๆ เหล่านี้ถูกยึดที่ดินเพื่อนำไปสร้างถนนสำหรับเข้าออกชั่วคราว จากเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังบ้านพุน้ำร้อน ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดสัญจรและใช้งานแล้ว และอีกเส้นทางหนึ่งคือ สำหรับรองรับถนนหลวง 8 ช่องจราจร สายส่งกระแสไฟฟ้า ท่อก๊าซและน้ำมัน และทางรถไฟ
พื้นที่ตั้งของ 5 หมู่บ้านนั้นทั้งหมดอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายออกไปประมาณ 45 นาที และห่างจากชายแดนไทยที่พุน้ำร้อนโดยใช้เส้นทางโรดลิ้งค์ประมาณ 5-6 ชั่วโมง สภาพการตั้งบ้านเรือนของแต่ละชุมชนกระจายกันออกไปตามเรือกสวนไร่นา คู่ขนานไปกับแม่น้ำและลำธารที่เหมาะสำหรับการทำเกษตร โดยเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงฤดูฝน ในพื้นที่จึงเริ่มดำและหว่านพันธุ์ข้าวซึ่งนาข้าวนี้เองที่จะเห็นทอดยาวแผ่กว้างตลอดสองข้างทางทีเดียว
หากเมื่อย้อนภูมิหลังความเป็นมาก็พบว่า แต่เดิมนั้นในปี 2525 มีการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลและกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยงจนทุกอย่างในพื้นที่ถูกทำลาย ไม่มีใครสามารถอาศัยอยู่ได้ สิบปีให้หลังเมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบชาวบ้านจึงกลับมาอีกครั้งและเริ่มตั้งรกรากหาอยู่หากินกันใหม่ หากเมื่อปี 2537 การปะทะก็เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลทหาร (ABSDF) จนปี 2540 ชาวบ้านถึงจะได้มีช่วงที่สามารถอาศัยในพื้นที่เพื่อเพาะปลูกทำการเกษตรอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งอย่างสงบสุข โดยปัจจุบันครึ่งหนึ่งของจำนวนชาวบ้านทำนาข้าวเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน นอกจากนั้นก็แบ่งพื้นที่สำหรับการปลูกหมาก มะม่วงหินพานต์ ทำสวนยาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่หาได้จากป่าในชุมชน โดยชาวบ้านราว 10% ที่ถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 50 เอเคอร์ และในหมู่บ้นกะเลจีนี้มีสมาชิกที่เป็นผู้อพยพมาจากส่วนอื่นๆ ของเมียนมาประมาณ 30 ครอบครัว ซึ่งอพยพมาด้วยหลายสาเหตุ เช่นมาจากเขตอิรวดีครั้งเกิดพายุนาร์กีส โดยส่วนมากมารับจ้างทำสวน เป็นต้น ที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2539 ที่แทบทุกครัวเรือนจะมีสมาชิกมาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ทีเดียว นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีบางส่วนที่อาศัยในค่ายผู้อพยพทั้งที่ด่านเจดีย์สามองค์ ราชบุรี แม่สอด ไปจนถึงสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย ตั้งแต่ครั้งหนีจากสงคราม
ในส่วนทรัพยากรธรรมชาติ หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแม่น้ำไหลผ่านทั้งยังมีคลองและลำธารสายย่อยอีกมากมายซึ่งเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม โดยทั้งหมดเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านจึงสามารถเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเหล่านี้ได้ทั้งสิ้นทุกครัวเรือน และด้วยความเป็นพื้นที่รับน้ำนี้เอง ที่เมื่อเกิดการก่อสร้างโครงการถนนสองเลนซึ่งมีทั้งส่วนที่สร้างคู่ขนานไปกับล้ำน้ำและส่วนที่ตัดขวางเส้นทางน้ำสำคัญทั้งสายหลักและลำธารหลายสาย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณภาพน้ำที่ส่งมาถึงสองหมู่บ้านนี้เสื่อมลง ทั้งยังมีปัญหาโคลนตะกอนจากการก่อสร้าง ซึ่งต่อไปภายหลังจากการทำถนนเสร็จสิ้นลงแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุดและคาดคะเนว่าจะเกิดขึ้นก็คือวิถีชีวิตที่จะต้องสูญเสียไปอย่างแน่นอนเพราะการทำมาหากินทั้งหมดของชาวบ้านต้องพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเหล่านี้สำหรับดื่มและใช้ทั้งสิ้น และความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ ที่ล้วนเปราะบาง เช่นวงจรชีวิตของปลาที่อาศัยลำธารเป็นที่วางไข่และอนุบาลปลาวัยอ่อน โดยเมื่อเติบโตจะกระจายไปตามแม่น้ำสายหลักต่อไป ซึ่งโครงการถนนจะกั้นทางน้ำไม่ให้ปลาเหล่านี้สามารถหาที่วางไข่และทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารสำคัญของเหล่าปลาและสัตว์น้ำจนอาจสูญพันธุ์ได้ในที่สุด
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความคิดเห็นสะท้อนไปยังโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยรวมด้วยว่ารัฐบาลจะสามารถการันตีค่าแรงขั้นต่ำให้อย่างน้อยก็เท่ากับค่าแรงฝั่งไทย (300 บาท) และจะสามารถปกป้องสิทธิของแรงงานท้องถิ่นได้หรือไม่ ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแน่ชัดแก่ชาวบ้านว่าโรงงานต่างๆ ที่จะมาตั้งนั้นมีโรงงานอะไร ประเภทใดบ้าง ซึ่งถ้าหากเป็นโรงงานที่อิงกับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เช่นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ส่งเสริมกันและกัน เพราะชาวบ้านในพื้นที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่หากเป็นอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ พวกตนก็ไม่แน่ใจว่าคนในพื้นที่จะสามารถเข้าไปทำได้อย่างไร เพราะแม้จะมีการอบรมฝึกฝีมือแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถนัดหรือเกื้อหนุนวิถีชีวิตของท้องถิ่นให้เจริญงอกงามขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นแล้วในขณะที่การอยู่กินของชาวบ้านอันใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติเช่นในปัจจุบันนั้นกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นเพียงภาพฝันของรัฐบาลเองที่อาจไม่ได้ดีดังหวังและยังอยู่ไกลเกินไปสำหรับพวกตน
“หากจะยืนยันจะทำโครงการต่อไป พวกเราชาวบ้านก็ต้องการเพียงให้มีผู้รับผิดชอบและแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดไปก่อนหน้านี้แล้วก่อนที่จะดำเนินการอีกครั้ง หากอดีตยังไม่ถูกเยียวยา แล้วอนาคตจะสามารถทำอย่างถูกต้องโปร่งใสให้พวกเราเชื่อมั่นได้อย่างไร”
. . .
ด้านวิถีทางการเกษตรนั้นชาวบ้านในพื้นที่นี้เน้นการทำไร่หมุนเวียน ทั้งนาข้าว ไปจนถึงพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น หมาก มะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว เป็นต้น และยังมีการใช้สอยผลิตผลจากป่าชุมชนที่ผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยทั้งตะบิวชองและปินธาดอว์นี้มีชาวบ้านประมาณ 50% เป็นเจ้าของที่ดิน 3- 5 เอเคอร์ นอกจากนั้นก็มีสัดส่วนการถือครองแตกต่างกันออกไป ซึ่งมี 1 หรือ 2 คนต่อหมู่บ้านเท่านั้น ที่เป็นเจ้าของที่ทำกินมากกว่า 50 เอเคอร์ และชาวบ้านไม่กี่ครัวเรือนที่ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์จากรัฐบาล ในตะบิวชองเองมีชาวบ้านเพียง 20 กว่าคนที่มีเอกสารสิทธิ์ ส่วนอีก 40 กว่าคนนั้นมีเอกสารสิทธิ์ที่รับรองโดย KNU หากบางคนก็สามารถมีได้จากทั้งสองทาง ฟากปินธาดอว์มีชาวบ้านประมาณ 20-30 คนที่มีเอกสารสิทธิ์จากรัฐบาล และชาวบ้านในจำนวนเท่าๆ กันก็มีเอกสารสิทธิ์จาก KNU ซึ่งรูปแบบการเก็บภาษีที่ดินนั้นก็แตกต่างกันออกไป โดยทางรัฐบาลคิดเพียงเอเคอร์ละ 2-3 จั๊ตต่อปีเท่านั้น ขณะที่ KNU จะคิด 4% จากผลผลิตที่ได้จากหมากในแต่ละปี ซึ่งการคำนวนออกมาเป็นจำนวนเงินนั้นก็ยืดหยุ่น แล้วแต่ว่าผู้ที่ดูแลการเก็บภาษีจะประเมินว่าควรจ่ายเท่าใด
ด้านผลกระทบจากการก่อสร้างถนนต่อแหล่งน้ำนั้น ชาวบ้านจากปินธาดอว์ให้ข้อมูลว่าพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่าใดนัก เพราะพื้นที่บริเวณนี้ค่อนข้างห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคจึงใช้วิธีการต่อท่อส่งน้ำ และในบางครัวเรือนที่ไม่อาจเข้าถึงแหล่งน้ำจากท่อได้จะต้องเดินทางเพื่อไปนำน้ำจากลำน้ำที่อยู่ไกลออกไปมาก ส่วนในตะบิวชองนั้นต่างออกไปเพราะมีการใช้น้ำจากแม่น้ำและลำธารสายย่อยๆ มากมาย เมื่อโครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างจึงส่งผลให้ไม่อาจใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดิมได้อีก เนื่องจากเกิดตะกอนและดินโคลนสกปรกมาแทนที่น้ำสะอาด จนปัจจุบันชาวบ้านในตะบิวชองต้องจ่ายเงิน 1,000 จั๊ตต่อเดือนเพื่อใช้น้ำจากท่อส่งน้ำจากภูเขาในการอุปโภคบริโภค และผลจากดินโคลนในแม่น้ำนี้เองที่ส่งผลกระทบไปถึงพันธุ์ปลาอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านที่ลดจำนวนลงในพริบตา จากที่สามารถหาจับได้ตลอดเวลากลับกลายเป็นต้องรอซื้อจากพ่อค้าแม่ค้าที่นำเข้าปลามาขายจากในเมืองทวาย นับแต่นั้นเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องเร่งขวนขวายหามามากกว่าเดิม
และเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินบริเวณการก่อสร้างที่ต้องสูญเสียไปเพราะถนนได้ตัดผ่านเรือกสวนไร่นา รวมถึงพื้นที่ข้างทางตลอดแนวที่ก็ไม่อาจเพาะปลูกอะไรได้อีก ความกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือการที่บางส่วนของถนนตัดขนานกับภูเขาบริเวณต้นน้ำ ซึ่งหากเกิดการพังทลายของหน้าดินจะก่อให้เกิดอันตรายและส่งผลกระทบต่อแม่น้ำซ้ำเข้าไปจากเดิมอีก
. . .
ผลกระทบต่อแหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพของหมู่บ้านกาโลนท่าก็เกิดขึ้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะที่เกิดแก่คลองสำคัญ 3 สายของหมู่บ้านที่จะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งหากโครงการดำเนินต่อไปจะส่งผลให้เกิดโคลนกีดกั้นส้นทางการไหลของน้ำ และไปเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศย่อยอันสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพันธุ์ปลา ทำให้ปลาขาดแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลปลาวัยอ่อนซึ่งคือเหล่าเกาะแก่งและซอกหินน้อยใหญ่ในท้องน้ำ ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเล่าว่าไม่อาจหาปลาในแม่น้ำใกล้เคียงในหมู่บ้านได้อีกแล้ว และต่อไปจะลามมากระทบการอุปโภคบริโภคน้ำสะอาดของคนในชุมชนด้วย
ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่นี้มีกลุ่มนักค้าไม้ที่เข้ามาหาประโยชน์จากป่าซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจตัดไม้ผิดกฎหมาย โดยเมื่อถนน Road Link ก่อสร้างก็ทำให้การเข้ามาตัดไม้และส่งออกขายสะดวกขึ้นจนเพิ่มจำนวนเหล่านักตัดไม้เถื่อน ทำให้การเข้ามาของถนนกลายเป็นการเร่งการตัดไม้ทำลายป่าทางอ้อมด้วย
. . .
เนื้อหาข้างต้นล้วนคือเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่จริงอันได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการถนนเชื่อมต่อสองช่องทางที่มีความห่วงกังวลและบอกเล่าถึงปัญหาอันสะสมซึ่งได้เกิดขึ้นไปแล้วโดยยังไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ จะเห็นได้ว่ากระบวนการหนึ่งที่มีปัญหาอย่างมากและคนในพื้นที่ได้กล่าวถึงตรงกันนั่นก็คือ กระบวนการปรึกษาหารือและการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่ผู้ดำเนินโครงการได้เข้าไปถากถางและบุกรุกพื้นที่ของชาวบ้านหลังจากการลงนามสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลเมียนมาทันที แล้วค่อยเริ่มกระบวนการ EIA ในภายหลังโดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าหรือให้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการแก่ชุมชนแต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจกระบวนการลัดขั้นตอนเหล่านี้เป็นอย่างมากเนื่องจากขาดความโปร่งใสและไม่มีธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง แม้บริษัทพยายามจะอ้างว่าทางบริษัทมีกระบวนการที่ก้าวหน้ามากแล้วเพราะยังไม่มีกฎหมายในเมียนมาที่กำหนดให้ทำ EIA ก่อนเริ่มโครงการแต่อย่างใด และหลังจากที่ทางบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้กลับเข้ามาเป็นผู้พัฒนาโครงการทวาย (ระยะแรก) ในนามบริษัท MIE ทางบริษัท TEAM Consulting Engineering ก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดทำ ESIA ในส่วนของโครงการถนนสองช่องทางด้วย โดยเผยแพร่เอกสารลงในเว็บไซต์ของบริษัท MIE หากข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์นั้นล้วนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเช่นชาวบ้านจึงเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านั้นด้วยไม่มีการแปลเป็นภาษาพม่าหรือภาษากะเหรี่ยงแต่อย่างใด ที่สำคัญคือหลังจากที่เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัท TEAM กับชาวบ้านในขั้นตอนการทำ ESIA แล้วบริษัท TEAM ก็ได้ออกจากพื้นที่และไม่ได้กลับไปอีก หากไม่นานนักก็ได้ออก ESIA ออกมา ซึ่งหมายถึง ESIA ฉบับนี้ไม่ได้ผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากชาวบ้านหรือการสำรวจใดๆ นั่นเอง ทั้งหมดเหล่านี้จึงยิ่งตอกย้ำกระบวนการอัน ‘เหมือนตั้งใจให้ไร้ประสิทธิภาพ’ เพื่อหวังเพียงผลคืบหน้าทางธุรกิจโดยไม่กล้าแม้จะสบตาชาวบ้านและบอกกล่าวข้อมูลด้วยความซื่อสัตย์จริงใจ
![IMG_6205[1]](https://themekongbutterfly.files.wordpress.com/2018/08/img_62051.jpg?w=900)